เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 1.เวรัญชสูตร
ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ1เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป‘2
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ 3 นี้แล ในยามที่ 3 แห่งราตรี ความมืดมิด
คืออวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ 3 ของเรา เหมือน
การเจาะกระเปาะไข่ออกมาของลูกไก่”

เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดมเป็นพี่ใหญ่ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม
ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่าน
พระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการ
ต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึง
ท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรง
จำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เวรัญชสูตรที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ 4 คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้
แจ้งซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ 8 ให้เจริญ (ที.สี.อ. 1/248/203)
2 ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ในที่นี้หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความ
สิ้นไปแห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพุทธศาสนาถือว่าการบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ.
1/248/203)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :225 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 2.สีหสูตร
2. สีหสูตร
ว่าด้วยสีหเสนาบดี1
[12] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก นั่งประชุมกันใน
สันถาคาร2 กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญ
พระสงฆ์โดยประการต่าง ๆ
สมัยนั้น สีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ลำดับนั้น
สีหเสนาบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นต้องเป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากเหล่านี้นั่งประชุมกันใน
สันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าว
สรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่าง ๆ ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ต่อมา สีหเสนาบดีได้เข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับนิครนถ์
นาฏบุตรดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าพระสมณโคดม เจ้าข้า”
นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวว่า “สีหะ ท่านเป็นผู้สอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปเฝ้า
พระสมณโคดมผู้สอนไม่ให้ทำเล่า เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ย่อม
แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำสาวกตามแนวนั้น”
ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
1 สีหเสนาบดี หมายถึงสีหราชกุมาร ที่ได้นามว่า เสนาบดี เพราะได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็น
1 ใน 3 คนที่เป็นสาวกชั้นแนวหน้าของนิครนถ์ นาฏบุตร คือ อุบาลีคหบดีในเมืองนาลันทา เจ้าวัปปะ
ศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์ และสีหเสนาบดีในกรุงเวสาลี (องฺ.อฏฺฐก.อ.3/12/231) และดู วิ.ม. (แปล) 5/290-
294/108-116
2 สันถาคาร มีความหมาย 2 นัย คือ นัยที่ 1 หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักผ่อนสำหรับมหาชน
อาคารนี้ถูกสร้างขึ้นที่ใจกลางเมือง คนที่อยู่รอบ ๆ ทั้ง 4 ทิศสามารถมองเห็นได้ คนที่มาจาก 4 ทิศ จะพัก
ที่อาคารนี้ก่อนที่จะเข้าไปพักในที่สะดวกสำหรับตน นัยที่ 2 หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อประชุมพิจารณา
ราชกิจสำหรับราชตระกูล ในที่นี้หมายถึงนัยที่ 2 (องฺ.อฏฺฐก.อ.3/12/229-230)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :226 }